เงินบาทไทยเปิดเช้านี้ที่ระดับ 37.35 บาทต่อดอลลาร์ แข็งค่าขึ้น ตลาดกังวลเฟดเร่งขึ้นดอกเบี้ย ขณะที่บอนด์ยีลด์พุุ่งทำจุดสูงสุดใหม่
นายพูน พานิชพิบูลย์ นักวิเคราะห์ประจำห้องค้าเงินธนาคารกรุงไทย ระบุ ค่าเงินบาท เปิดเช้านี้ที่ระดับ 37.35 บาทต่อดอลลาร์ “แข็งค่าขึ้น”จากระดับปิดวันก่อนหน้า ที่ระดับ 37.40 บาทต่อดอลลาร์ แนวโน้มค่าเงินบาทผันผวนในฝั่งอ่อนค่าและอาจทดสอบโซนแนวต้าน 37.40-37.50 บาทต่อดอลลาร์ในช่วงนี้ได้ อย่างไรก็ดี การอ่อนค่าของเงินบาทอาจถูกจำกัดได้ หากนักลงทุนต่างชาติชะลอการเทขายสินทรัพย์ไทยและเริ่มกลับเข้ามาเป็นฝั่งซื้อสุทธิมากขึ้น
ซึ่งล่าสุด เริ่มเห็นสัญญาณการขายที่ลดลงทั้งในฝั่งตราสารหนี้และหุ้น โดยเฉพาะในฝั่งหุ้นที่นักลงทุนต่างชาติกลับเข้ามาซื้อสุทธิราว 2.3 พันล้านบาทในวันก่อนหน้า ทว่า เงินบาทก็อาจยังไม่สามารถแข็งค่าไปมากได้ในระยะสั้น หากยังไม่มีปัจจัยบวกใหม่ๆ เข้ามาสนับสนุนค่าเงินบาท ทำให้เงินบาทอาจยังพอมีโซนแนวรับแถว 37.20 บาทต่อดอลลาร์
ทั้งนี้ ในช่วงที่ตลาดการเงินผันผวนสูงจากความไม่แน่นอนของหลายปัจจัย คงแนะนำให้ผู้ประกอบการควรใช้กลยุทธ์ป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนที่หลากหลายมากขึ้น โดยเฉพาะการใช้ Options ซึ่งจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันความเสี่ยงได้ดีในช่วงที่ตลาดผันผวนหนัก มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 37.20-37.45 บาท/ดอลลาร์โด
อย่างไรก็ตาม ความกังวลแนวโน้มการเร่งขึ้นดอกเบี้ยของเฟดที่อาจส่งผลกระทบให้เศรษฐกิจสหรัฐฯ ชะลอตัวลงหนักและเสี่ยงเข้าสู่ภาวะถดถอยยังคงเป็นปัจจัยสำคัญที่กดดันให้ผู้เล่นในตลาดต่างประเมินว่าแนวโน้มผลประกอบการของบรรดาบริษัทจดทะเบียนในฝั่งสหรัฐฯ อาจแย่ลงและเสี่ยงที่จะเกิดภาพ Earning Recession ได้ ทำให้ผู้เล่นส่วนใหญ่ต่างเดินหน้าลดการถือครองสินทรัพย์เสี่ยงลง โดยเฉพาะหุ้นสไตล์ Growth อย่าง Nvidia -5.3%, Tesla -4.1%, Amazon -1.0% กดดันให้ดัชนี S&P500 ยังคงปรับตัวลดลงราว -0.84%
ทั้งนี้ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ยังพอได้แรงหนุนจากการเข้าซื้อหุ้นกลุ่ม Defensive อย่าง กลุ่ม Healthcare (Eli Lilly +4.9%, Merck +3.5%) รวมถึงแรงซื้อหุ้นเทคฯ ใหญ่ในจังหวะย่อตัว (Microsoft และ Alphabet +0.9%)
ทางด้านตลาดหุ้นยุโรป ดัชนี STOXX600 ของยุโรป ดิ่งลงกว่า -1.79% ท่ามกลางความกังวลแนวโน้มเศรษฐกิจโลกชะลอตัวลงหนัก จากการเร่งขึ้นดอกเบี้ยของบรรดาธนาคารกลาง (ล่าสุด เฟด, ธนาคารกลางสวิตเซอร์แลนด์ และธนาคารกลางอังกฤษ ต่างเร่งขึ้นดอกเบี้ย เพื่อคุมเงินเฟ้อ)
นอกจากนี้ตลาดหุ้นยุโรปยังเผชิญแรงกดดันจากรายงานดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค (Consumer Confidence) เดือนกันยายน ที่ปรับตัวลดลงต่อเนื่องสู่ระดับ -28.8 จุด แย่กว่าที่ตลาดคาด
ส่วนทางด้านตลาดบอนด์ แม้ว่าบรรยากาศในตลาดการเงินจะอยู่ในภาวะปิดรับความเสี่ยง ทว่า รายงานภาวะตลาดแรงงานสหรัฐฯ ล่าสุด อย่าง ยอดผู้ขอรับสวัสดิการการว่างงานครั้งแรก (Initial Jobless Claims) ที่ยังคงอยู่ในระดับต่ำเพียง 213,000 ราย ดีกว่าที่ตลาดคาด ยังคงหนุนแนวโน้มเฟดเร่งขึ้นดอกเบี้ยต่อเนื่อง และช่วยให้ บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ปรับตัวขึ้นทำจุดสูงสุดใหม่ที่ระดับ 3.71%
อย่างไรก็ดี คงมุมมองเดิมว่า การปรับตัวขึ้นของบอนด์ยีลด์ระยะยาวจะยิ่งทำให้การกลับเข้ามาถือพันธบัตรรัฐบาลระยะยาวมีความน่าสนใจมากขึ้น เนื่องจากแนวโน้มเศรษฐกิจโลกในอนาคตอาจชะลอตัวลงหนักและเสี่ยงเข้าสู่ภาวะถดถอยได้ จากผลกระทบของการเร่งขึ้นดอกเบี้ยของบรรดาธนาคารกลาง
ด้านตลาดค่าเงิน เงินดอลลาร์เคลื่อนไหวผันผวนหนัก โดยดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY Index) ปรับตัวลงแรงสู่ระดับ 110.6 จุด กดดันโดยการแข็งค่าขึ้นของเงินเยนญี่ปุ่น (JPY) อย่างรวดเร็วสู่ระดับ 140.4 เยนต่อดอลลาร์ จากการเข้าแทรกแซงค่าเงินของทางการญี่ปุ่น ก่อนที่ดัชนีเงินดอลลาร์จะรีบาวด์ขึ้นกลับสู่ระดับ 111.2 จุด ตามการปรับตัวขึ้นของบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ และความต้องการถือสินทรัพย์ปลอดภัยของผู้เล่นในตลาด
โดยในฝั่งสหรัฐฯ ตลาดคาดว่า ภาคการบริการของสหรัฐฯ อาจหดตัวในอัตราชะลอลง หนุนโดยการใช้จ่ายของผู้คนที่เพิ่มขึ้น ตามการปรับตัวลงของราคาน้ำมันเชื้อเพลิง ซึ่งจะสอดคล้องกับความเชื่อมั่นผู้บริโภคที่ปรับตัวขึ้นต่อเนื่อง เช่นเดียวกับยอดค้าปลีก (Retail Sales) ที่ยังคงขยายตัว โดยดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการบริการ (S&P Global Services PMI) เดือนกันยายน อาจปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 45.5 จุด จาก 43.7 จุด ในเดือนก่อนหน้า (ดัชนีต่ำกว่า 50 จุด หมายถึง ภาวะหดตัว)
ส่วนภาคการผลิตอุตสาหกรรมอาจขยายตัวต่อเนื่อง ในอัตราชะลอลงตามการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกและราคาต้นทุนวัตถุดิบที่ยังสูงอยู่ โดยดัชนี PMI ภาคการผลิตอุตสาหกรรมอาจลดลงเล็กน้อยสู่ระดับ 51.3 จุด จากระดับ 51.5 จุด ในเดือนก่อนหน้า (ดัชนีสูงกว่า 50 จุด หมายถึง ภาวะขยายตัว)
ขณะที่ยุโรปตลาดคาดว่า รายงานดัชนี PMI ภาคการผลิตอุตสาหกรรมและการบริการของยูโรโซนและอังกฤษ จะยังคงสะท้อนแนวโน้มการชะลอตัวลงต่อเนื่องของเศรษฐกิจยุโรป ท่ามกลางปัญหาเงินเฟ้อสูงและภาวะชะลอตัวลงของเศรษฐกิจโลก โดยดัชนี PMI ภาคการผลิตและการบริการของยูโรโซนในเดือนกันยายน อาจปรับตัวลงต่อสู่ระดับ 48.7 จุด และ 49 จุด ตามลำดับ
อย่างไรก็ตาม นอกเหนือจากรายงานดัชนี PMI ภาคการผลิตและการบริการ ตลาดจะรอลุ้นผลการเลือกตั้งทั่วไปของอิตาลีในวันอาทิตย์ โดยผลโพลล่าสุดสะท้อนว่า พรรค Brothers of Italy ซึ่งเป็นพรรคขวาจัดมีโอกาสเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล ทำให้ผู้เล่นในตลาดอาจกลับมากังวลปัญหาการเมืองยุโรปมากขึ้นได้